การทํา เลสิก (LASIK) คืออะไร?
LASIK (laser in-situ keratomileusis) คือ เทคโนโลยีสำหรับแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง แบบมีการแยกชั้นกระจกตาก่อน จากนั้นจึงใช้แสงเลเซอร์ไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงตกกระทบแล้วโฟกัสลงจอประสาทตาพอดี(ทำให้การมองเห็นชัดขึ้น) โดยแสงเลเซอร์ที่เราใช้นี้ เรียกว่า Excimer laser เป็นเลเซอร์เย็นชนิดที่ปรับแต่งพื้นผิวเท่านั้น จึงมีผลเฉพาะบริเวณผิวกระจกตา ไม่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในลูกตาได้
1. การแยกชั้นกระจกตาบางส่วนออกมาเป็นชั้นบางๆ
2. การใช้แสงเลเซอร์เพื่อปรับความโค้งผิวกระจกตา (Excimer laser)
โดยการทำ LASIK ไม่สามารถใช้วิธีดมยาสลบได้ แต่จะทำโดยใช้ยาชาหยอดตาเท่านั้น เพราะระหว่างทำจะมีบางขั้นตอนที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้รับบริการร่วมด้วย
ผู้ที่เหมาะสม ที่จะรับการรักษาด้วยวิธีเลสิค
- มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
- กระจกตาไม่บางเกินไป ขนาดรูม่านตาไม่ใหญ่เกินไป
- ไม่เป็นโรคตาแห้งอย่างรุนแรง
- มีสายตาคงที่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
- ไม่เป็นโรคบางชนิดที่ทำให้แผลหายช้าหรือโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวาน , SLE
- ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อภาวะเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- ไม่มีประวัติเป็นโรคทางตาบางชนิด ได้แก่ ต้อหิน , จอประสาทตาเสื่อม , กระจกตาบางหรือกระจกตาโป่ง , ม่านตาอักเสบ
*โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้กับคนไข้ที่มาตรวจว่าเหมาะสมในการทำวิธี LASIK หรือวิธี PRK
เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมที่สุดกับคนไข้
การเตรียมตัวก่อนทำเลสิค
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ท่านจะรู้สึกวิตกกังวลหรือกลัว ปนกับความตื่นเต้นที่จะทำเลสิค
คนไข้ของเราแทบทุกคนก็มีความรู้สึกนี้เช่นเดียวกับท่าน ท่านควรเตรียมตัวดังนี้
นำผลตรวจเลือดมาด้วย
นำผลตรวจเลือด Anti-HIV หรือบัตรบริจาคเลือด ซึ่งมีระยะเวลาในการตรวจไม่เกิน 3 เดือนมาด้วย
ควรสระผม
ควรสระผมก่อนวันทำเลสิค 1 วัน และก่อนมาทำเลสิค ควรทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย
หยุดสวย 1 วัน
ในวันทำเลสิค ห้ามแต่งหน้า ห้ามทาเล็บ ห้ามทาครีม ห้ามใส่น้ำหอมหรือสเปรย์ ทุกชนิด
การแต่งตัว เสื้อผ้า
สวมเสื้อผ้าที่สวมสบาย ถอดง่าย ควรเป็นเสื้อที่มีกระดุมผ่าหน้า เพื่อสะดวกเวลาถอด
ทานอาหารได้ตามปกติ
ท่านไม่ต้องอดอาหารก่อนการทำเลสิค ไม่มีข้อห้ามที่จะรับประทานอาหารชนิดต่างๆ ยกเว้นเหล้าหรือยานอนหลับที่ทำให้ท่านรู้สึกง่วงระหว่างทำ
พยายามอย่ามาคนเดียว
ควรนำญาติมาด้วยในวันทำเลสิค และฝากของมีค่าต่างๆ ไว้กับญาติ ก่อนเข้าห้องทำเลสิค
ทำเสร็จกลับบ้านได้เลย
ท่านไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อทำเลสิค เรียบร้อยแล้ว ท่านสามารถกลับบ้านได้เลย และควรจะมีคนมารับส่งในวันทำเลสิค ถ้าไม่มีโปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อจัดเตรียมรถแท็กซี่บริการท่านได้
ต้องมาอีกในวัดถัดไป
ท่านจำเป็นต้องมาตรวจติดตามอาการในวันรุ่งขึ้น ตามแพทย์นัด เพื่อดูแผลผ่าตัดและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังทำผ่าตัดที่ถูกต้อง
ขั้นตอนหลักในการผ่าตัดด้วยวิธี LASIK
ใช้อุปกรณ์ครอบลงบนกระจกตา แล้วใช้เครื่อง Microkeratome เลื่อนฝานกระจกตา
เมื่อกระจกตาถูกแยกชั้น แพทย์จะทำการเปิดกระจกตาและพับไว้ด้านข้าง
ทำการยิง Excimer laser เพื่อปรับความโค้งกระจกตา จากนั้นปิดชั้นของกระจกตาเข้าที่เดิม
อาการที่ท่านอาจมีได้หลังทำเลสิค
- ผู้ที่มาทำเลสิคส่วนใหญ่จะหายเร็วมากภายใน 24-48 ชั่วโมง สายตาจะค่อยๆ ชัดขึ้น อาจมีสายตาขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ได้ในช่วงสัปดาห์แรก
- ตาแดง บางท่านอาจมีจุดสีแดงที่บริเวณตาขาวได้ จุดนี้เกิดจาก Suction Ring จุดแดงนี้ไม่มีผลกับสายตาหรือตาดำ จุดนี้จะค่อยๆ จางลงไปเองใน 1-2 สัปดาห์
- เคืองตา อาจมีได้โดยเฉพาะภายใน 24 ชั่งโมงแรก ท่านอาจมีน้ำตาไหล น้ำมูกไหลได้ ท่านเพียงซับน้ำตาที่ไหลล้นออกมานอกฝาครอบตาเท่านั้น ห้ามแยงนิ้วเข้าไปซับน้ำตาใต้ฝาครอบตา การพักผ่อนด้วยการนอนหลับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น หลังจากตื่นนอนในเช้าวันแรกอาการเหล่านี้จะดีขึ้นมาก
- ตาพร่าหรือสายตาชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ในช่วงสัปดาห์แรก สายตาจะค่อยๆคงที่ขึ้นเรื่อยๆ ตามการหายของแผล
- ตาแห้ง พบว่าในบางท่านอาจมีอาการตาแห้งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะท่านที่ที่มีตาแห้งอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตาพร่าเป็นครั้งคราวได้หรือมีอาการแสบ เคืองตาเวลาที่มีลมพัดเข้าตา เชื่อว่าอาการนี้เกิดจากการที่เราไปรบกวนเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระจกตาทำให้ ระบบการกระตุ้นน้ำตาลดลงชั่วคราว อาการตาแห้งนี้จะค่อยๆดีขึ้นเองหลังจากเส้นประสาทปรับตัวได้
- มองใกล้ไม่ชัด ในช่วงแรกสายตามองไกลจะกลับมาชัดก่อนสายตามองใกล้ จากนั้นสายมองใกล้จะค่อยๆ ดีขึ้นตามมาตามลำดับ
- แสงกระจายตอนกลางคืน อาจเห็นดวงไฟกระจายกว้างขึ้นกว่าปกติโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก
ส่วนใหญ่แล้วจะดีขึ้นเองหลัง 1 สัปดาห์ แสงกระจายนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในคนที่มีสายตาสั้นมากๆ และมีม่านตาขยายใหญ่กว่าคนปกติในเวลากลางคืน ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ทราบตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจประเมินสายตาว่าท่านมีความ เสี่ยงนี้มากน้อยเพียงใด